One day trip :ไหว้พระทำบุญอยุธยา ตามรอยประวัติศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ อยุธยา

Last updated: 23 มี.ค. 2564  |  2003 จำนวนผู้เข้าชม  | 

One day trip :ไหว้พระทำบุญอยุธยา ตามรอยประวัติศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ อยุธยา

 ตามรอยประวัติศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ อยุธยา      

          อย่างที่รู้ ๆ กันนะคะ ในอยุธยามีร่อยรอยประวัติศาสตร์มากมายในสมัยอยุธยา รวมถึงวัดวาอารามที่ยาวนานมานับร้อย ๆ ปี ที่เคยรุ่งเรืองในสมัยนั้น ปกติแล้วเวลาฟูไปอยุธยาก็จะไปไหว้พระในวัดวาอารามไม่กี่วัดที่ขึ้นชื่อดัง ๆ เท่านั้น แต่วันนี้ฟูจะไปทำบุญไหว้พระตามรอยประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ หรือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 6 และเป็นรัชกาลสุดท้ายแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ก่อนเสียกรุงอยุธยาครั้งที่ 2 จะมีวัดไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เราไปตามรอยกันเลยค่ะ

                โดยพิกัดแรกที่จะไปคือ วัดไชยวัฒนาราม

                วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ในตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง หลายคนคงสงสัยใช่ไหมคะว่าเกี่ยวกับอะไรกับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เพราะตามประวัติศาสตร์ของวัดไชยวัฒนารามนั้นสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททองในพ.ศ. 2173 ซึ่งพระองค์ได้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศผลบุญให้กับพระราชมารดาของพระองค์ เนื่องจากเคยเป็นที่อยู่เก่าของพระราชมารดา และเป็นอนุสรณ์ชัยชนะเหนือเขมร

                และสิ่งที่น่าสนใจเป็นจุดเอกลักษณ์ของวัดไชยวัฒนารามนั่น คือ รูปแบบสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งมาจากปราสาทนครวัด

                พระปรางค์ประธาน ก็อีกหนึ่งความน่าสนใจของที่นี่ เพราะแตกต่างจากพระปรางค์ที่อื่นตรงทำมุขทิศยื่นออกมามากกว่า และมีปรางค์ประธานและปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน บนยอดพระปรางค์ใหญ่เคยประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็ก รอบพระปรางค์ล้อมรอบด้วยระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัยที่เคยลงรักปิดทองถึง 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงศักดิ์สิทธิ์

                นับว่า วัดไชยวัฒนาราม เป็นอีกวัดหนึ่งมีร่อยรอยความเก่าแก่โบราณที่มีความเป็นเอกลักษณ์และงดงามมากจริง ๆ ค่ะ และได้รับขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2535 ด้วยค่ะ

                แม้ว่าวัดไชยวัฒนารามจะสร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง แต่วัดแห่งนี้ได้เคยเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศนั่นเอง ไม่เพียงแค่นั้น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศยังมีชีวิตอยู่นั่น ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและกรมหลวงอภัยนุชิต เป็นมหาอุปราช ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างมารดาของเจ้าฟ้าเอกทัศน์ (สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์) และเจ้าฟ้าอุทุมพร (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) นั่นเอง

                แม้ว่าพระองค์ท่านจะมีความปรีชาสามารถด้านวรรณกรรมและต่อสู้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ปกครองกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตด้วยการโดนสำเร็จโทษด้วยการโบย เนื่องจากลับลอบเป็นชู้กับพระมเหสีของพระราชบิดา นั่นก็คือ เจ้าฟ้าสังวาลย์ สิ่งที่หลงเหลืออยู่นั่นคือ เจดีย์บรรจุพระอัฐิเจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งจะพบเจดีย์ดังกล่าวก่อนถึงซากโบสถ์และปรางค์ประธาน ซึ่งเล่าลือกันว่าหลังจากพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตแล้วนั้น พระราชบิดาให้นำมาฝังในวัดไชยวัฒนาราม โดยฝังคู่กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ เพราะเห็นว่ารักกันมาก

เวลาเปิด-ปิด : 8.00-18.00 น. จะมีการเปิดส่องไฟประมาณ 19.30-21.00 น.

ค่าเข้า : คนไทย 10 บาท ต่างชาติ 50 บาท

หลังจากชมโบราณสถาน ณ วัดไชยวัฒนาราม แล้วฟูก็เดินทางต่อไปยัง วัดพระศรีสรรเพชญ์

                วัดพระศรีสรรเพชญ์ จะอยู่ใกล้กับวิหารพระมงคลบพิตร วัดยอดนิยมที่คนไทยมักจะกราบมาไหว้พระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ เมื่อใกล้กันแบบนี้แล้วฟูก็ขอแวะทำบุญไหว้พระในวัดมงคลบพิตรก่อนนะคะ

                วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นอดีตวัดหลวงประจำพระราชวังโบราณ แม้ว่าตอนนี้จะหลงเหลือเพียงซากในประวัติศาสตร์ก็ตาม ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจวัดนี้ตือ เจดีย์ทรงลังกาจำนวนสามองค์เรียงยาวตลาดทิศตะวันออกและตะวันตก เมื่อเราเดินเข้าไปนั้นจะพบเห็นอยู่ข้างหน้าเราเลยค่ะ โดยองค์แรกที่สร้างคือฝั่งตะวันออก ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2035) เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นพระราชบิดา ต่อมาก็ได้มีการสร้างองค์กลางของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างมารดา และองค์ฝั่งตะวันตกให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2  โดยพระราชโอรสได้โปรดให้สร้างขึ้น

                เนื่องจากวัดแห่งนี้เป็นวัดหลวงประจำพระราชวังโบราณในสมัยอยุธยา จึงเป็นวัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ในทุกราชวงค์ของสมัยอยุธยาต่าง ๆ รวมถึงสมัยนั้นจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลายก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 ในพ.ศ. 2310

 

เนื่องเราเดินเข้าไปทางฝั่งขวาจะเห็นร่องรอยวิหารพระป่าเลไลย์ พระอุโบสถ พระที่นั่งจอมทอง และวิหารพระโลกนาถ

เวลาเปิด-ปิด : 8.00-16.30 น.

ค่าเข้า : คนไทย 10 บาท ต่างชาติ 50 บาท

 

                หลังจากนั้นฟูก็เดินทางไปยัง วัดครุฑาราม ที่น้อยนักคนจะเดินทางมาทำบุญ

วัดครุฑาราม เป็นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงสร้างขึ้นในพ.ศ. 2302 เพื่อการฉลองทรงเป็นกษัตริย์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าเอกทัศได้โปรดเกล้า 2 วัด แก่ วัดครุฑธารามและวัดละมุด

เมื่อฟูเดินเข้าไปวัดแห่งนี้จะมีเห็นพญาครุฑที่ทรงอำนาจมาก ฟูได้ยินมาว่าพญาครุฑที่องค์นี้นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมากด้ายอำนาจบารมี เนื่องจากเป็นครุฑที่สร้างจากกษัตริย์ โดยวัดครุฑในประเทศไทยจะมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น นั่นคือ วัดประยงค์กิตตวนาราม ที่หนองจาก วัดโพธิ์ทอง บางมด

        เมื่อเดินเข้าไปภายในโบสถ์จะเห็นหลวงพ่อครุฑ จริงๆแล้วเศียรพระไม่ใช่ของเดิม เพราะหลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 เศียรของพระประธานได้ถูกลับลอบไปขาย ต่อมาด้วยความบังเอิญพบเศียร์พระหนึ่งเศียรที่นำมาประกอบเข้าองค์พระประธานพอดี และมีลักษณะคล้ายปากครุฑ

       วัดแห่งนี้บ้างก็มีการเล่าว่าเป็นวัดที่พระยาพลเทพถูกลอบมาสังหาร หลังจากเป็นกบฎของแผ่นดิน เผาบ้านเผาเมืองจากข้างใน นำแปลงเมืองไปให้พม่า แต่บ้างตำนานของพงษาวดารพม่าก็ว่าเป็นหนึ่งขุนนางในอยุธยาที่ถูกต้อนไปอังวะ และบ้างก็ว่าถูกฆ่าตายจากพม่าหลังจากทำการเสร็จสิ้น เพราะว่าขนาดยังเผาบ้านเมืองตัวเองได้เลย จะไว้ใจเป็นมิตรได้อย่างไร

เวลาเปิด-ปิด : 8.30-14.30 น.

 

หิวข้าวกันแล้วก็แวะกินข้าวกันสักนิด ฟูได้แวะไปกินข้าวที่ร้านอาหารท่าน้ำวิว อยุธยากัน ที่นี่ของบอกว่าเป็นร้านที่มีวิวสวยมากค่ะ สามารถมองเห็นวิววัดพุทไธศวรรย์ ได้เลย

มาอยุธยาถ้าไม่ใช่กุ่งแม่น้ำ ก็ต้องกินก๋วยเตี๋ยว ร้านนี้จัดว่า ก๋วยเตี๋ยวเด็ด และอร่อยเหมือนกันค่ะ

อิ่มกันแล้ว เราก็เดินทางกันต่อไปที่ วัดประดู่ทรงธรรม หรือวัดประดู่โรงธรรม ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเกิดจากการรวมพื้นที่ของวัดโบราณ 2 วัด คือวัดประดู่ และวัดโรงธรรม ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาธยาเป็นราชธานี ซึ่งวัดแห่งนี้ตามประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้นเคยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ “ขุนหลวงหาวัด” เคยมาผนวชประจำวัดแห่งนี้ถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศนั่นเอง โดยพระองค์ท่านเคยเป็นมหาอุปราชภายหลังเจ้าฟ้ากุ้งสววรคตไปแล้วนานหลายปีเลยค่ะ โดยได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งทรงเห็นความมีปัญญาและความเพียรมากกว่าพระเชษฐาพระองค์เอง นั่นคือ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ แต่หลังจากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ในพ.ศ. 2301 ซึ่งครองราชย์ได้เพียง 2 เดือนเท่านั้นก็ได้มีกบฎจากเจ้าสามกรรม พระเชษฐาต่างมารดา ได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี  ภายหลังพระองค์ท่านได้จัดการกบฎเป็นอันเรียบร้อยก็ทรงสละราชสมบัติให้แก่ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ แล้วเสด็จออกผนวช ณ วัดประดู่ทรงธรรม

      ต่อมาได้มีสงครามพระเจ้าอลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในช่วงเดือน 12 ปีระกา พ.ศ. 2302 จึงลาพระผนวชมาช่วยศึกจนได้รับชัยชนะ พระเจ้าอลองพญาทางสวรรคตระหว่างศึกการรบ จึงกลับไปผนวชอีกครั้ง เมื่อพระเจ้ามังระขึ้นครองราชย์พม่าต่อจากพระเจ้ามังลอกที่เป็นพระเชษฐา ก็ทรงแก้แค้นแทนบิดายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งในช่วงพ.ศ. 2308 ในครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรไม่ได้ลาผนวชมาช่วยศึก พม่าได้รอบกรุงศรีเป็นเวลา 14 เดือนจนได้รับชัยชนะ ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2310 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรถูกต้อนไปพม่า แล้วท่านเป็นคนให้ป็นผู้ให้ปากคำเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาแก่พม่า ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ในปัจจุบัน อยู่ในหมู่บ้านอยู่รอบเมืองมัณฑะเลย์ ชื่อว่า “เมงตาสึ” แปลว่า “เยี่ยงเจ้าชาย” และก็ยังคงมีหลักฐานปรากฏถึงวัฒนธรรมไทยอยู่ เช่น ประเพณีการขนทรายเข้าวัดในวันสงกรานต์ หรือการตั้งศาลบูชาพ่อปู่ หรือ หัวโขน เป็นต้น แม้ผู้คนในหมู่บ้านนี้จะไม่สามารถพูดไทยหรือมีวัฒนธรรมไทยเหลืออยู่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นเชลยมาจากไทย ปัจจุบันคนไทยกลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า “โยเดีย” (Yodia) ตามพงศาวดารพม่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรสวรรคตในขณะทรงเป็นบรรพชิต ใน พ.ศ. 2339

เวลาเปิด-ปิด : 8.00-16.00 น.

จากนั้นฟูพาเดินทางต่อไปยัง วัดกุฎิดาว ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับวัดประดู่ทรงธรรม วัดเห็นได้เป็นวัดที่มีการเล่าลือว่าเป็นวัดที่มีขุมสมบัติของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศที่เกณฑ์คนมาสร้างห้องใต้ดินเพื่อไว้ฝังสมบัติ ก่อนที่จะมีการเสียกรุงอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งขุมสมบัติเหล่านั้นเชื่อกันว่ามากมายมหาศาลเท่าภูเขา แต่ทว่าวัดกุฎิดาว เป็นวัดที่อาถรรพ์แรงมากจนผู้คนต่างหวาดกลัว เนื่องจากมีปู่โสมเฝ้าทรัพย์ชายชาติทหารที่มีเชื้อพระวงศ์ เข้มแข็งด้านวิชาอาคมแรงมาก เฝ้าสมบัติของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

แม้วัดแห่งนี้ไม่ปรากฎชัดเจนประวัติการสร้าง สันนิษฐานสร้างขึ้นสมัยตั้งแต่อยุธยาตอนต้น และเป็นวัดร้างต่อมา โดยเรื่องราวของปู่โสมเฝ้าทรัพย์ที่ต่างล้ำลือนั้นตั้งแต่ปี 2503 ครั้งพระองค์เจ้าพีระพงษ์ภานุเดช หรือพระองค์ชายพีระ ได้รับสมุดช่อยเขียนด้วยอักษาไทยโบราณที่ได้แสดงจุดตำแหน่งที่ฝังขุมทรัพย์ถึง 16 แห่งในวัดกุฎิดาว

จากนั้นพระองค์ได้ยื่นขออนุญาตต่อกรมศิลปากรเพื่อทำการขุดหาสมบัติโดยจะมอบให้แก่รัฐ 90% ส่วนอีก 10% จะเป็นของพระองค์ ด้วยชวนพระสหายจากต่างประเทศมาช่วยขุดด้วยเครื่อง ไมน์ ดีเทคเตอร์ (Mine Detester) ซึ่งสามารถตรวจวัดว่ามีอะไรบ้างและปริมาณเท่าไหร่ใต้นี้ลึกกว่า 20 เมตร แต่ด้วยความพระองค์ไม่ได้เชื่อเรื่องการขอขมาบวงสวรรค์มากนัก จึงได้ทำการขุดเลยโดยวันแกรของการขุดได้มีการตรวจพบทองคำถูกฝังเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อขุดไประหว่างทางก็พบกระเบื้องโบราณกองทับถมกันจนต้องเสียเวลารื้อออกมาจนล่วงเวลาไปจนเย็น ประกอบกับช่วงเวลากลางคืนนั้นเองพระองค์ท่านได้ยินเสียคนขุดดิน แต่กลับพบว่าไม่เจอใครและไม่พบร่องรอยอะไร

วันต่อมาพระองค์ยังขุดหาสมบัติต่อไป จนกระทั้งได้เห็นชายรูปร่างกำยำใหญ่โตแต่งตัวนักรบไทยโบราณเดินหายไป เช่นกันเดียวพระสหายท่านก็เห็นเหมือนกัน และในวันต่อมานั้นก็ยังขุดสมบัติแต่ก็เริ่มเข้าใกล้สมบัติทุกทีเนื่องจากเครื่องไมน์ ดีเทคเตอร์ ส่งสัญญาณเสียงดังมาก แต่ทันใดนั้นคนงานได้ยินเสียงดังเหมือนมีอะไรขนาดใหญ่เคลื่อนตัวมาจากใต้ดินจนคนงานพากันแตกตื่นวิ่งหนี จนเมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติพระองค์เจ้าพีระก็ได้นำเครื่อง ไมน์ ดีเทคเตอร์มาตรวจสอบอีกที แต่ครั้งนี้กลับไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แต่กลับชี้ไปยังทิศทางอื่นแทน ซึ่งดูเหมือนว่าทองคำมหาศาลถูกเคลื่อนย้ายหนี จึงไปขุดตามอีกรอบก็พบเหตุการณ์เดียวกัน ต่อมาพระองค์จึงได้พบพระภิกษุรูปหนึ่งให้คำแนะนำในการบรวงสรวงขออนุญาต เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ได้ถูกการสาปแช่งไว้ จนพระสหายท่านคนหนึ่งได้เสียชีวิตลง ส่วนอีกคนหายสาบสูญ ส่วนพระองค์เหมือนโดนอาถรรพ์คำสาปแช่งไม่ว่าจะทำอะไรก็ล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จตลาดชีวิต จนทำให้การขุดสมบัติหยุดชะงักไปกลางทาง

เวลาเปิด-ปิด : 5.00-19.00 น.

สุดท้ายฟูก็เดินกันไปต่อที่ ค่ายโพธิ์สามต้น  เป็นชื่อที่คุ้นหูมาก เพราะบริเวณค่ายโพธิ์สามต้นนั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา ความสำคัญอย่างแรกเลยคือ บุคคลชาวจีนบ้านนายก่ายที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยกว่า 2000 คน ได้เสียสละที่จะออกรบไปต้านกองกำลังพม่า ทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญาในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2303 สิ่งสำคัญที่ควรระลึกถึงถึงชาวจีนเหล่านั้น แม้ว่าเป็นเชื้อสายจากจีน ไม่ใช่คนไทย แต่เค้ามีจิตใจที่กล้าหาญ ไม่กลัวแม้แต่ความตาย เพราะเป็นการอาสาไปเอง ไม่ได้โดนบังคับ จิตใจต้องเสียสละและเข้มแข็งขนาดไหนนิ ที่รู้ว่าอาจต้องตายแต่ก็จะไป เพื่อตอบแทนบุญคุณที่อาศัยแผ่นดินไทย  นับถือจิตใจที่กล้าหาญมาก ซึ่งนำโดย  หลวงอภัยพิพัฒน์ขุนนางจีน แม้ว่าชาวจีนเหล่านั้นจะแพ้เพราะอาจตั้งตัวไม่ทันตั้งค่าย ก็โดนโจมตีก่อน แม้ว่าจะมีกองหนุนอีก 1000คนตามมาหนุนไม่ทัน ทำให้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก                                              

ความสำคัญต่อมา : กองทัพของเนเมียวสีหบดีเข้าตั้งค่ายที่โพธิ์สามต้น คู่กับกองกำลังด้านตะวันตก แม้แม่ทัพกองกำลังฝั่งตะวันตกตาย ของเนเมียวสีหบดีจึงสั่งการรบเข้าล้อมตีกรุงศรีอยุธยาทุกด้านจนชนะ จึงให้สุกี้มอญและมองญ่าแม่ทัพพม่าคุมกองทัพ 3000 คนตั้งค่ายอยู่โพธิ์สามต้นเช่นกัน เพื่อรวบรวมส่งเสบียงไปพม่า ต่อมาพระเจ้าตากได้ยกทัพมาตีกรุงศรี แม่ทัพพม่าได้หนีมาค่ายโพธิ์สามต้น จึงตามมาตีค่ายโพธิ์สามต้นฝั่งตะวันออกแล้วตั้งรักษาค่ายเพื่อทำศึกกับฝั่งตะวันตก จนชนะ และปล่อยเฉลยมีชั้นยศที่หลงเหลือ จึงนับว่าเป็นค่ายประวัติศาตร์แห่งชัยชนะเลยก็ว่าได้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้